TANGYINGWATTANA CO.,LTD.
อ.ชินริณี วีระวุฒิวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กล่าวว่า คีนัว และเมล็ดเชีย เป็นพืชจากอเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือพบมากใน โบลีเวีย เปรู เอกวาดอร์ โคลัมเบีย โดยมีการค้นพบว่า คีนัว (Quinoa) มีโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และไขมันดี ไฟเบอร์ และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งคุณประโยชน์คล้ายกับธัญพืชหลากสี ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วดำ
สำหรับ เมล็ดเชีย (Chia Seed) เป็นพืชในกลุ่มเทศตระกูลเดียวกับกะเพรา หรือ มินต์ แม้ว่าเมล็ดเชียจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม อาทิ คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหาร และลำไส้ ไฟเบอร์จากเมล็ดเชียที่ขยายตัวในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นมากเกินไปอาจกระตุ้นให้ตับอ่อนเร่งสร้างน้ำย่อยออกมาได้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรบริโภคเพราะมีผลต่อแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวให้ต่ำลง (Diastolic blood pressure) อาจก่อให้เกิดอาการช็อก หรือ หมดสติได้ และผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรบริโภคเพราะมีผลต่อสารอาหารในน้ำนมให้เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น
“ธัญพืชหลายชนิดที่อยู่คู่กับคนไทยมานานนั้น ก็มีประโยชน์ไม่ต่างกัน เพียงแต่อาจจะยังไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับธัญพืชไทยเกิดขึ้นมากนัก ทำให้หลายคนมองข้าม” อ.ชินริณี กล่าว
5 ตัวอย่าง ธัญพืชไทยมากคุณค่า
1. ลูกเดือย (job's tears) เป็นธัญพืชประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นพืชพื้นเมืองแท้ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเส้นใยอาหารสูง เป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว มีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะมีปริมาณโปรตีน 13.84% คาร์โบ-ไฮเดรต 70.65% ใยอาหาร 0.23% ไขมัน 5.03% แร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ซึ่งช่วยบำรุงกระดูก มีอยู่ในปริมาณสูง รวมทั้งวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 โดยเฉพาะวิตามินบี 1 มีในปริมาณมาก ซึ่งช่วยแก้โรคเหน็บชาด้วย นอกจากนี้ ลูกเดือยยังมี กรดอะมิโน มีกรดไขมันจำเป็นชนิดที่ไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิค และกรดลิโนเลอิก รวมแล้วถึง 84%
2. ข้าวหอมนิล (Purple Rice) มีวิตามินบีรวม ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการอ่อนเพลีย แขน ขาไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อโรคผิวหนังบางชนิดบำรุงสมอง ทำให้เจริญอาหาร ไนอาซีน ช่วยการทำงานของระบบประสาท และระบบผิวหนัง และธาตุเหล็กที่มีอยู่ในข้าวหอมนิลนี้ เมื่อเข้าไปในร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการบำรุงโลหิตได้ทันที
3. ถั่วแดง (Red Kidney bean) จัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยโปรตีนที่ได้จากถั่วแดงนั้นมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์เลยทีเดียว แถมยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย การรับประทานถั่วแดงนอกจากจะให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงแล้ว ยังทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีธาตุเหล็ก ที่ช่วยบำรุงโลหิต วิตามินบีหลายชนิด และมีแคลเซียมสูง การรับประทานเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม ป้องกันโรคกระดูกพรุน และแคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
4. ถั่วดำ (black bean) มีสารฟลาโวนอยด์ หรือสารล้างพิษกรัมต่อกรัมสูงที่สุด รองลงมาเป็นถั่วสีแดง น้ำตาล เหลืองและขาวตามลำดับ เพราะในถั่วดำนั้นมีสารสำคัญอย่างแอนโทไซยานินส์ ซึ่งนับเป็นตัวล้างพิษชั้นดี โดยเมื่อเทียบกับการกินถั่วดำในปริมาณเท่ากันกับการกินส้มแล้ว ถั่วดำจะมีปริมาณสารล้างพิษมากกว่าในส้มถึง 10 เท่า เลยทีเดียว คือเทียบได้กับองุ่นและแอปเปิล แต่การทำให้ถั่วดำสุกนั้นก็จะสูญเสียตัวล้างพิษไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถล้างพิษให้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคนิคการต้มถั่วดำควรนำมาคั่วเพื่อให้หอม แล้วแช่ในน้ำร้อนจัดทิ้งไว้ 3 ชม. หรือน้ำธรรมดาทิ้งไว้ 1 คืน (หรือประมาณ 6 ชม.) แล้วค่อยนำมาต้ม วิธีนี้จะได้ถั่วต้มที่นุ่ม ไม่กระด้าง
5. รำข้าว (rice bran) ปลายเมล็ดข้าว หรือที่เรารู้จักกันแล้วว่า จมูกข้าว เป็นแหล่งรวมของวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งถ้าผ่านกระบวนการสกัดและผลิตอย่างมีมาตรฐานแล้ว มีวิตามินอีธรรมชาติ ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น เต่งตึง ลดจุดด่างดำ ลดริ้วรอย ทั้งยังเป็นสารต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอวัย แกมมาโอริซานอล เข้มข้นจากน้ำมันรำข้าวเมื่อผ่านกระบวนการพิเศษ จะให้คุณค่าจากสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื่น ต้านการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ทั้งยังปกป้องและลดการตีบตันของหลอดเลือด วิตามินบี-คอมเพล็กซ์ ช่วยในเรื่องบำรุงประสาท เหน็บชา ช่วยระบบเมตาบอลิซึ่ม แร่ธาตุ อาทิ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี ช่วยเพิ่มพลังงาน เพิ่มการเผาผลาญ เสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมอง และยังเพิ่มการทำงานของระบบฮอร์โมน
ทั้งนี้ การบริโภคธัญพืชเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เราควรเลือกธัญพืชที่ยังไม่ผ่านกระบวนการขัดสี เพราะธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตจะมีสารอาหาร มากกว่าธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขัดขาวคุณค่าทางโภชนาการของมันเหลือไม่ถึงครึ่งของข้าวกล้อง โดยแมกนีเซียมในข้าวกล้องจะมีมากกว่าข้าวขัดขาวถึง 70%
อ.ชินริณี ยังกล่าวอีกว่า แท้จริงนั้นการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพควรเริ่มจาก อาหารในท้องถิ่น อย่าง ผักพื้นบ้าน อาหาร หรือขนมไทยพื้นบ้าน นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ส่วนใหญ่ยังมีส่วนประกอบของสมุนไพร หรือพืชผักที่เป็นประโยชน์ของไทยอยู่ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ช่อม่วง เมนูจากดอกอัญชันที่สามารถปลูกได้ง่ายบริเวณรั้วบ้าน ก็มีสรรพคุณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือสาร "แอนโทไซยานิน" ซึ่งมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดีมากขึ้น เช่น ไปเลี้ยงบริเวณรากผม ซึ่งช่วยทำให้ผมดกดำ เงางาม หรือไปเลี้ยงบริเวณดวงตา จึงช่วยบำรุงสายตาไปด้วยในตัว
เราควรจะส่งเสริมให้มีการปลูกผักริมรั้ว แม้ว่าจะไม่มีบริเวณที่จะปลูกต้นไม้ หรือผักไว้กินได้มากนัก เนื่องจากการถูกจำกัดเรื่องสถานที่ แต่เราสามารถปลูกผักสวนครัวไว้กิน โดยการปลูกไว้ในกระถาง เช่น พริก โหระพา กะเพรา แมงลัก ชะพลู ผักชี ผักแพว เป็นต้น ซึ่งปลูกง่าย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งยังปลอดภัยจากสารพิษอีกด้วย
“การดูแลสุขภาพของตนเองด้วยวิธีธรรมชาติ มีความพอดี เป็นทางเลือกที่พึงปฏิบัติ เพียงมีวินัยต่อตนเอง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็สุขภาพดีไร้โรคภัยได้” อ.ชินริณี ทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th